วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

แผนที่ประเทศกัมพูชา

เมืองหลวงประเทศกัมพูชา

 พนมเปญ 
เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีพื้นที่ 678 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 2,250,000 ล้านคน นับว่ามากที่สุดในกัมพูชา และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศอีกด้วย
สำหรับประวัติกรุงพนมเปญ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1372 (พ.ศ. 1915) และเป็นเมืองหลวงของกัมพูชา ก่อนที่จะย้ายเมืองไปย้ายเมืองมา เนื่องจากถูกรุกรานจากอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและเวียดนามสลับกันโจมตี กระทั่งกัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้ ค.ศ. 1865(พ.ศ. 2408) ในยุคของพระเจ้านโรดมที่ 1 กรุงพนมเปญจึงถูกตั้งเป็นเมืองหลวงอีกครั้ง

พื้นที่ประเทศกัมพูชา

ที่ตั้ง : กัมพูชาตั้งอยู่กลาง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทิศเหนือติดกับประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และลาว (แขวง อัตตะปือและจำปาสัก) ทิศตะวันออกติด
เวียดนาม (จังหวัดกอนทูม เปลกู ซาลาย ดั๊กลั๊ก ส่องแบ๋ เตยนิน ลองอาน ด่งท๊าบ อันซาง และเกียงซาง) ทิศตะวันตกติดประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด) และทิศใต้ติดอ่าวไทย



พื้นที่ : ขนาดกว้าง 500 กิโลเมตร ยาว 450 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร
ภูมิประเทศ : ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ประกอบด้วยที่ราบรอบทะเลสาบเขมร และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
มีทิวเขาล้อมรอบทางเหนือ คือ เทือกเขาพนมดงรัก เทือกเขาบรรทัด เทือกเขาอันนัม กัมพูชา มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายชามหรืออ่าง คือ ตรงกลางเป็นแอ่งทะเลสาบและลุ่มแม่น้ำโขงอันกว้างขวาง มีภูเขาล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน ได้แก่
ด้านตะวันออกมีแนวเทือกเขาอันนัมที่เป็นพรมแดนกับประเทศเวียดนาม
ด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือมีแนวเทือกเขาพนมดงรักที่เป็นพรมแดนกับประเทศไทย
ด้านใต้และตะวันตกใต้มีแนวเทือกเขาบรรทัดที่เป็นแนวพรมแดนกับประเทศไทย เฉพาะด้านตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
ภูเขา : ยอดเขาสูงที่สุดของกัมพูชาคือ พนมอาออรัล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,813 เมตรทิศเหนือของกัมพูชามีเขตแดนติดกับประเทศไทยระยะทางยาว 750 กิโลเมตร ติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด โดยมีเทือกเขาพนมดงรัก และเทือกเขาบรรทัดกั้น
ภูมิอากาศ : มีอากาศมรสุมเขตร้อนเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม ฤดูฝนเริ่มจากเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูแล้ง เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เดือนเมษามีอุณหภูมิสูงที่สุด เดือนมกรามีอุณหภูมิต่ำที่สุด เดือนตุลาคมมีฝนตกมากที่สุด          

ประชากรประเทศกัมพูชา

ลักษณะประชากรกัมพูชา โดย สำนักงาน ก.พ. 
ปัจจุบันประเทศกัมพุูชามีประชากรถึง 14.4 ล้านคน ประกอบไปด้วยชนหลายเชื้อชาติ ซึ่งแยกออกได้เป็น เชื้อสายกัมพุูชา ร้อยละ 96 มุสลิม ร้อยละ 2.2 เวียดนาม ร้อยละ 0.49 จีน ร้อยละ 0.2 ที่เหลือเป็นชน กลุ่มน้อยหรือชาวเขา รวม 17 เผ่า 
ส่วนในด้านศาสนา มีผู้นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ร้อยละ 95 นับถือ ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 3 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 1.7 นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ร้อยละ 0.3
ทั้งนี้โครงสร้างหลักของชาวกัมพูชา คือ ภาคเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 70 ภาคบริการประมาณร้อยละ 17 ภาคอุตสาหกรรมโรงงานประมาณร้อยละ 8 และภาคการก่อสร้างประมาณร้อยละ 5 ชาวกัมพูชาประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก 

ระบบการปกครองประเทศกัมพูชา

กัมพูชามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่14 ตุลาคม 2547และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศคือ สมเด็จฮุน เซน โดยดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี
พรรคการเมืองสำคัญมี3พรรคได้แก่ พรรคประชาชนกัมพูชา(Cambodian People’s Party: CPP) หัวหน้าพรรคคือสมเด็จเจีย ซิม รองหัวหน้าพรรคคือสมเด็จฮุน เซน พรรคฟุนซินเปค(National United Front for an Independent,Neutral,Peaceful and Cooperative Cambodia: FUNCINPEC) หัวหน้าพรรคคือ นายเชียว พุธ รัศมี และพรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party: SRP) หัวหน้าพรรคคือนายสม รังสี ทั้งนี้พรรคประชาชนกัมพูชา(Cambodian People’s Party : CPP) สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียวทำให้สมเด็จฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัย
รัฐสภาของกัมพูชาเป็นสภาคู่ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า120คนมาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยทางตรงและลับมีวาระ5ปีปัจจุบันมีสมาชิก123 คน และมีสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์เป็นประธาน กับ วุฒิสภา (Senate) ที่มีสมาชิกมากสุดไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์2คนเลือกจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากโดยเปรียบเทียบ 2 คนและที่เหลือมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมมีวาระ6ปี (ปัจจุบันมีสมาชิก 61 คน ) และมีสมเด็จ เจีย ซิม เป็นประธาน
กัมพูชาแบ่งเขตการปกครองเป็น 20 จังหวัด ได้แก่ 
(1) กระแจะ (2) เกาะกง 
(3) กันดาล (4) กัมปงจาม 
(5) กัมปงชนัง (6) กัมปงทม 
(7) กัมปงสะปือ (8) กัมปอต 
(9) ตาแก้ว (10) รัตนคีรี 
(11) พระวิหาร (12) พระตะบอง
(13) โพธิสัต (14) บันเตียเมียนเจย 
(15) เปรเวง (16) มณฑลคีรี 
(17) สตึงเตรง (18) สวายเรียง 
(19) เสียมเรียบ (20) อุดรมีชัย 
แต่ละจังหวัดแบ่งการปกครองเป็นอำเภอ (Srok) และตำบล (Khum) นอกจากนี้ มีเขตการปกครองพิเศษเรียกว่า กรุง (Municipalities) อีก4กรุง ได้แก่ กรุงพนมเปญ กรุงสีหนุวิลล์ (กัมปงโสม) กรุงแกบ และกรุงไพลิน 
ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดหรือกรุง จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกรุงกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก7– 9คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล(5ปี)เป็นผู้ปกครองโดยจังหวัดจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นอำเภอและตำบล( เรียกเป็น “สะร๊อก” และ “คุ้ม”)ขณะที่กรุงจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเรียกเป็น “คาน” และ “สังกัด” ทั้งนี้หมู่บ้านหนึ่งๆซึ่งเป็นชุมชนย่อยลงไปจะเรียกว่า“ภูมิ”

ภาษาราชการของประเทศกัมพูชา

ภาษาราชการของกัมพูชา คือ ภาษาเขมร อันเป็นภาษาที่จัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร อันเป็นภาษากลุ่มย่อยของตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาฝรั่งเศสในกลุ่มชาวเขมรผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาษาราชการหลักของอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ปัจจุบันภาษาฝรั่งเศสยังถูกจัดอยู่ในการเรียนการสอนในโรงเรียนบางแห่ง และบางมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน ซึ่งภาษาฝรั่งเศสได้ตกทอดจากยุคอาณานิคมมาถึงในยุคปัจจุบันและยังมีใช้ในรัฐบาลบางวาระโดยเฉพาะในศาล
ในอดีตปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลกัมพูชาเคยประกาศห้ามมิให้บุคคลเชื้อสายไทยพูดภาษาไทย และห้ามมีหนังสือไทยไว้ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่ค้นพบจะถูกทำลายให้สิ้นซากโดยเฉพาะหากพูดภาษาไทยจะถูกปรับคำละ 25 เรียลและเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียลในปีต่อมาเพื่อตอบโต้รัฐบาลไทยในคดีเขาพระวิหาร

เชื้อชาติประเทศกัมพูชา

ชื้อชาติ
- ชาวเขมร 85% 
- ชาวญวน 5% 
- ชาวจีน 5 %
- อื่นๆ เช่นชาวไทย ชาวลาว ชาวจาม ชาวจะราย ชาวระแดว์ ชาวเสตียง ชาวเมฺรญ และชาวเปือร์ 3% เป็นต้น 

ศาสนาในประเทศกัมพูชา

ศาสนาที่สำคัญในกัมพูชา คือ ศาสนาพุทธ มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยก่อนหน้านั้น ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่มีความสำคัญมาเป็นเวลากว่าพันปี ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเผยแพร่เข้ามาพร้อมกับมิชชันนารีจากฝรั่งเศส เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่เป็นที่นับถือในหมู่ชาวจาม ส่วนชาวเขมรเชื้อสายจีน นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ลัทธิขงจื๊อ และความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีน

ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธเข้ามาสู่กัมพูชาเมื่อราว พุทธศตวรรษที่ 10 โดยศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำรัฐตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ยกเว้นช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจ ในปัจจุบันมีจำนวนเป็น 95% ของประชากรทั้งหมด ประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธในกัมพูชายาวนานเกือบสองพันปี ผ่านระยะเวลาของอาณาจักรต่างๆที่สืบทอดมาจากจักรวรรดิเขมร การเข้าสู่กัมพูชาเกิดได้สองเส้นทาง คือรูปแบบดั้งเดิมของศาสนาพุทธที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูเข้าสู่อาณาจักรฟูนันโดยพ่อค้าที่นับถือศาสนาฮินดู ในเวลาต่อมา ศาสนาพุทธได้เข้าสู่กัมพูชาอีกทางหนึ่งในช่วงอาณาจักรพระนคร โดยผ่านทางอาณาจักรมอญคือทวารวดีและหริภุญไชย ในช่วงพันปีแรกของจักรวรรดิเขมร กัมพูชาปกครองด้วยระบบกษัตริย์แบบฮินดูและมีกษัตริย์ที่เป็นชาวพุทธเป็นบางครั้ง เช่นพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ของฟูนัน และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ศาสนาพุทธรูปแบบต่างๆดำรงอยู่อย่างสันติภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู และประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พระนโรดม สีหนุได้นำเสนอพุทธสังคมนิยม โดยเน้นความเสมอภาค ความเป็นอยู่ที่ดีของคนจน จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของเขมรแดงที่ศาสนาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีการทำลายวัด พระพุทธรูป เผาทำลายคัมภีร์ทางศาสนา มีการตีความศาสนาเพื่อรับใช้การปฏิวัติ หลังจากเขมรแดงสิ้นสุดอำนาจใน พ.ศ. 2522 สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชายังควบคุมพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด พระสงฆ์ต้องเข้าอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต ยุบรวมธรรมยุติกนิกายกับมหานิกายเข้าด้วยกัน จนถึงสมัยราชอาณาจักรกัมพูชา พุทธศาสนาจึงได้ฟื้นตัวอีกครั้ง



ศาสนาฮินดู
กัมพูชาได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูมากในช่วงเริ่มต้นของอาณาจักรฟูนันโดยมีฐานะเป็นศาสนาประจำรัฐ กัมพูชายังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนาฮินดูรวมทั้งนครวัด

ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของชาวจาม (บางครั้งเรียกเขมรมุสลิม) และชนกลุ่มน้อยชาวมาเลย์ในกัมพูชา ใน พ.ศ. 2518 มีมุสลิมในกัมพูชาราว 150,000 - 200,000 ในกัมพูชา ในสมัยเขมรแดง มีมุสลิมจำนวนหนึ่งถูกสังหาร ชาวจามในกัมพูชามีทั้งที่นับถือนิกายสุหนี่และชีอะห์
ชาวจามมีมัสยิดเป็นของตนเอง ใน พ.ศ. 2505 มีมัสยิดประมาณ 100 แห่งในประเทศ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 24 มุสลิมในกัมพูชาได้รวมตัวกันให้เกิดเอกภาพ ภายใต้การควบคุมของผู้นำศาสนา 4 ระดับคือ มับตี ตุกกาลิห์ รายากาลิก และตะวันปาเก สภาในหมู่บ้านของชาวจามประกอบด้วยฮาเก็ม 1 คน และมีกาติบ บิหลั่น และลาบีได้หลายคน ผู้นำศาสนาทั้งสี่ระดับและฮาเก็มจะได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเฉลิมฉลองระดับชาติ เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช ชุมชนมุสลิมอยู่ภายใต้อยู่ภายใต้การควบคุมของสภาที่มีสมาชิก 5 คน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวมุสลิมอย่างเป็นทางการ และรวมทั้งการติดต่อกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ชุมชนมุสลิมแต่ละแห่ง จะมีฮาเก็มเป็นผู้นำชุมชนและมัสยิด อิหม่ามเป็นผู้นำการละหมาด และบิหลั่นเป็นผู้เรียกผู้ที่มีศรัทธาให้มาทำละหมาดทุกวัน คาบสมุทรจรอยจังวาร์ใกล้กับพนมเปญเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชาวจาม สำนักงานระดับสูงของมุสลิมอยู่ที่นั่น ในแต่ละปี จะมีชาวจามไปเรียนศาสนาที่กลันตัน ในมาเลเซีย บางส่วนไปศึกษาที่เมกกะ ซึ่งมีชาวจามเพียง 7% ที่ได้รับเตอร์บันซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้รู้ทางศาสนาใน พ.ศ. 2499

ศาสนาคริสต์
มิชชันนารีกลุ่มแรกที่มาสู่กัมพูชา นำโดยกัสปาร์ ดาครูซ สังกัดนิกายโดมินิกันชาวโปรตุเกส ระหว่าง พ.ศ. 2098 – 2099 แต่การเผยแพร่ศาสนาล้มเหลว ในช่วงที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลน้อยมากในกัมพูชา ใน พ.ศ. 2515 คาดว่ามีชาวคริสต์ในกัมพูชาประมาณ 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ก่อนการขับไล่ชาวเวียดนามใน พ.ศ. 2513 – 2514 คาดว่ามีชาวคริสต์ในกัมพูชาถึง 62,000 คน ตามสถิติของเวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2496 สมาชิกของนิกายโรมันคาทอลิกในกัมพูชามีประมาณ 120,000 คนในกัมพูชา โดยเป็นชาวเวียดนามในกัมพูชาราว 50,000 คน ชาวคริสต์ที่เหลืออยู่ในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2515 ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2496 มีมิชชันของนิกายอเมริกันยูนิทาเรียนอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดครูพนมเปญ และมีมิชชันแบบติสต์ทำงานในพระตะบองและเสียมราฐ พันธมิตรมิชชันนารีและคริสเตียนก่อตั้งในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2466 และมีสมาชิกราว 2,000 คนใน พ.ศ. 2505
กิจกรรมของมิชชันนารีอเมริกันโปรแตสแตนท์เพิ่มขึ้นในกัมพูชา โดยเฉพาะในกลุ่มชาวจามและชนเผ่าต่างๆหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2513 และการก่อตั้งสาธารณรัฐเขมร มีรายงานว่ามีผู้นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ 2,000 คนใน พ.ศ. 2505 และใน พ.ศ. 2525 มีรายงานว่ายังมีหมู่บ้านชาวคริสต์ในกัมพูชา แต่ไม่ได้รายงานเรื่องจำนวน รวมทั้งนิกายของพวกเขา ใน พ.ศ. 2523 มีชาวเขมรที่นับถือศาสนาคริสต์ลงทะเบียนเป็นผู้อพยพในค่ายผู้อพยพในประเทศไทยมากกว่าจำนวนที่เคยมีรายงานใน พ.ศ. 2513 ใน พ.ศ. 2530 คาดการณ์ว่าเหลือชาวคริสต์ในกัมพูชาไม่กี่พันคน ปัจจุบันมีชาวคริสต์ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกในกัมพูชาราว 20,000 คน คิดเป็น0.15% ของประชากรทั้งหมด

ความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่า
ชนเผ่าในที่สูงหรือชาวเขมรบนมีระบบความเชื่อเป็นของตนเอง มีจำนวนประชากรราวๆ 100,000 คนโดยเป็นการนับถือผีและวิญญาณในธรรมชาติ มีหมอผีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ในกลุ่มของชาวเขมรบนนี้ ความเชื่อของชาวราเดและชาวจรายมีพัฒนาการที่ดี ทั้งในด้านจิตวิญญาณและกฎทางศาสนา

ตราสัญลักษณ์ประเทศกัมพูชา

ตราแผ่นดินของกัมพูชา (พระราชอาณาจักรกัมพูชา) แบบปัจจุบัน ใช้เป็นตราประจำราชวงศ์กัมพูชาและใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารกัมพูชาด้วย


ลักษณะ
ตราแผ่นดินของกัมพูชาเป็นรูปฉลองพระองค์ครุยคลุมพานแว่นฟ้า อัญเชิญพระแสงขรรค์และเครื่องหมายอุณาโลมภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมี มีลายช่อต่อออกมาจากกรรเจียกจรทั้งสองข้าง รูปดังกล่าวอยู่เหนือรูปดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์พระราชอาณาจักรกัมพูชา (Royal Order of Cambodia) และมีรูปลายก้านขดอยู่ใต้รูปฉลองพระองค์ครุยอีกชั้นหนึ่ง ถัดมาทางด้านข้างทั้ง 2 ด้านขนาบด้วยรูปฉัตร 5 ชั้น ซึ่งประคองโดยคชสีห์ทางด้านซ้าย และราชสีห์ทางด้านขวา เบื้องล่างสุดของรูปทั้งหมดเป็นแพรแถบแสดงข้อความว่า "ព្រះចៅក្រុងកម្ពុជា" ("พระเจ้ากรุงกัมพูชา") ด้วยอักษรเขมรแบบอักษรมูล

ความหมายของสัญลักษณ์ในดวงตรามีดังต่อไปนี้
รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระมหามงกุฎ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมเขมร
ฉัตร 5 ชั้นทั้งสองคัน หมายถึง พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี
พระแสงขรรค์ หมายถึง พระราชอำนาจและความยุติธรรม
ราชสิห์และคชสีห์ หมายถึง ปวงชนชาวกัมพูชาผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์

อาหารประเทศกัมพูชา

อาม็อก (Amok) อาหารยอดนิยมของกัมพูชา ลักษณะคล้ายห่อหมกของไทยโดยมากแล้วนิยมปรุงเนื้อปลาลวกด้วยพริกเครื่องแกงและกะทิ แล้วทำให้สุกโดยการนำไปนึ่ง บางตำรับอาจใช้เนื้อไก่หรือหอยแทน สาเหตุหนึ่งที่คนในประเทศนี้นิยมรับประทานปลา เพราะเป็นอาหารที่หาได้ง่าย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง




สตูว์ไก่เขมร (Ragu sach moan) สตูว์ไก่เขมรได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส มีรสชาติอร่อยและทำง่ายเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมในโอกาสใหญ่  เช่นงานแต่งงาน หรืองานเลี้ยงรวมญาติ

สกุลเงินประเทศกัมพูชา

เรียล (Riel) เป็นสกุลเงินของประเทศกัมพูชา
*127 เรียล เท่ากับประมาณ 1 บาท 
The Cambodian Riel (KHR) is the official currency of Cambodia.
127 Cambodian Riel = 1 Thai Baht
ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 50 เรียล 100 เรียล 200 เรียล  500 เรียล 1,000 เรียล 2,000  เรียล  5,000  เรียล  10,000  เรียล  20,000  เรียล 50,000  เรียล และ 100,000  เรียล

ประวัติศาสตร์ประเทศกัมพูชา

ประวัติศาสตร์กัมพูชา เริ่มตั้งแต่ยุคของอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละ พัฒนามาสู่กัมพูชายุคเมืองพระนคร ซึ่งมีความยิ่งใหญ่จนสามารถสร้างนครวัด นครธม เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่อยุธยากลายเป็นรัฐบรรณาการของอยุธยา จนเมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจในอินโดจีน กัมพูชากลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส และเป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลก กัมพูชาได้เป็นประเทศเอกราช แต่เกิดความสับสนวุ่นวายภายในประเทศเนื่องจากความขัดแย้งภายใน ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงอยู่ระยะหนึ่ง จนกองกำลังของเฮงสัมรินที่มีเวียดนามหนุนหลังเข้ามาขับไล่เขมรแดงออกไป และการเข้ามาไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติ เพื่อยุติสงครามกลางเมือง

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของกัมพูชา
ความรู้เกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ของกัมพูชานั้นมีอยู่น้อยมาก แหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดของกัมพูชาที่ค้นพบในปัจจุบัน คือ ถ้ำ แลง สแปน (Laang Spean) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าผู้คนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล และแหล่งโบราณคดีสำโรง เซน (Samrong Sen) ซึ่งเชื่อว่าเริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 230 ถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล
ชาวกัมพูชาเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่เมื่อราว 2,000 ก่อนคริสตกาล สามารถทำเครื่องมือจากเหล็กได้ตั้งแต่ราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนหน้าที่อิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียจะแผ่นเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้ ในราวปีที่ 100 ก่อนคริสตกาล
หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าพื้นที่หลายส่วนของดินแดนประเทศกัมพูชาในปัจจุบันเริ่มมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อราวสหัสวรรษแรกและสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยจัดเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ ซึ่งผู้คนกลุ่มนี้อาจอพยพมาจากทางพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในก่อนช่วงคริสต์ศตวรรษแรก ผู้คนในแถบได้มีวิวัฒนาการสู่การตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีการจัดโครงสร้างของสังคมอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาทักษะวิทยาการต่างๆ ได้ก้าวหน้ากว่ายุคก่อนๆ เป็นอย่างมาก กลุ่มที่มีพัฒนาการก้าวหน้าที่สุดอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง สามารถเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงปศุสัตว์ได้ นักประวัติศาสตร์หลายคนมีความเห็นว่า ผู้คนกลุ่มนี้ได้ตั้งหลักแหล่งอาศัยก่อนหน้าผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ไทย และลาว
ผู้คนกลุ่มนี้อาจจัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) หรืออย่างน้อยก็มีความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษของมนุษย์กลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทั่วไปในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาะแก่งต่างๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิกในปัจจุบัน ผู้คนเหล่านี้มีความรู้ในงานโลหะ เช่นเหล็กและสำริด โดยเป็นเป็นทักษะที่คิดค้นขึ้นเอง งานวิจัยในปัจจุบันได้ค้นว่า ชาวกัมพูชาในยุคนี้สามารถปรับปรุงสภาพภูมิประเทศมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยปรากฏรูปแบบเป็นพื้นที่รูปวงกลมขนาดใหญ่

อาณาจักรฟูนัน
อาณาจักรฟูนันเป็นรัฐที่รุ่งเรืองอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 – 6 ที่ตั้งของรัฐอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ฟูนานรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟูนานยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายต่างประเทศ ฟูนาน จึงมีรายได้จากการค้าขาย การเดินเรืออีกด้วย
เรื่องราวของรัฐฟูนาน ทราบจากบันทึกของชาวจีนที่เดินทางมาแถบนี้ ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ในชุมชนที่มีระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบอบกษัตริย์ มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมแท้ ๆ ของตนเอง มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียด้วยกัน และโลกตะวันตก ชนชั้นสูงเป็นพวกมาลาโยโพลีนีเซียน ชาวจีนว่าพวกชนชั้นพื้นเมืองของฟูนันหน้าตาหน้าเกลียด ตัวเล็ก ผมหยิก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกเนกริโตและเมลานีเซียน ฟูนานมีประวัติความเป็นมา เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คน เป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้าน จากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ วิธีการพัฒนาจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐมีปัจจัยและขั้นตอนหลายประการ

อาณาจักรเจนฬา หรือ โจฬะ
ในระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๐-๑๒๕๐ นั้นอาณาจักรขอมมีกษัตริย์ครองราชย์คือ พระเจ้าภววรมันที่ ๒ พระโอรสของพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๒ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ โอรสของพระเจ้าภววรมันที่ ๒ ยุคนี้ได้สร้างศิลปขอมแบบไพรกเมง ขึ้นระหว่างพ.ศ. ๑๑๘๐-๑๒๕๐สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ นั้นอาณาจักรเจนฬา (เจนละ) นั้นได้แตกแยกเป็นพวกเจนละบกคืออยู่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ และพวกเจนละน้ำ อยู่ในดินแดนลาวตอนกลาง พ.ศ. ๑๒๕๐-๑๓๕๐ ยุคนี้ได้มีการสร้างศิลปขอมแบบกำพงพระขึ้น
อาณาจักรขอมนั้นล่มสลายมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ หรือพระเจ้าปรเมศวรพ.ศ. ๑๓๔๕-๑๓๙๓ พระองค์ได้รวบรวมพวกเจนละบกและพวกเจนละน้ำเป็นอาณาจักรใหม่โดยรับเอาลัทธิไศเลนทร์หรือ เทวราชาเข้ามาทำการสถานปนาอาณาจักรใหม่ขึ้น โดยทำการสร้างราชธานีขึ้นใหม่หลายแห่งและสร้างปราสาทหินหรือเทวาลัยเป็นการใหญ่ ซึ่งมีเหตุการณ์ย้ายราชธานีขึ้นหลายครั้งจนกว่าจะลงตัวเป็นนครวัตนครธมในที่สุด ด้วยเหตุนี้อาณาจักรขอมสมัยนี้จึงรุ่งเรืองด้วยการสร้างราชธานีขึ้นหลายแห่งและมีปราสาทหินที่เป็นศิลปขอมเกิดขึ้นหลายแบบ กล่าวคือ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ นั้นพระองค์ได้ทำการสร้างเมืองอินทรปุระเป็นราชธานี ขึ้นที่บริเวณใกล้เมืองกำแพงจาม สร้างเมืองหริหราลัยหรือร่อลวย เป็นราชธานี สร้างเมืองอมเรนทรปุระ เป็นราชธานี และสร้างเมืองมเหนทรบรรพต หรือ พนมกุเลนเป็นราชธานี ยุคนี้ได้สร้างศิลปขอมแบบกุเลนขึ้นระหว่างพ.ศ. ๑๓๗๐-๑๔๒๐
เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ พระโอรสได้ครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ ๓ หรือ พระเจ้าวิษณุโลก ครองราชย์ พ.ศ. ๑๓๙๓-๑๔๒๐ พระองค์ได้กลับมาใช้เมืองหริหราลัยหรือร่อลอย เป็นราชธานี ต่อมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ หรือ พระเจ้าอิศวรโลก ครองราชย์พ.ศ. ๑๔๒๐-๑๔๓๒ ยุคนี้ได้สร้างศิลปขอมแบบพระโคขึ้นในพ.ศ. ๑๔๒๐-๑๔๔๐
ในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ หรือ พระเจ้าบรมศิวโลก พระโอรสของพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ ซึ่งครองราชย์เป็นกษัตริย์ขอมโบราณในพ.ศ. ๑๔๓๒-๑๔๔๓ นั้น พระองค์ได้สร้างเมืองยโศธรปุระหรือเมืองพระนครแห่งแรกขึ้นที่เขาพนมบาเค็ง เมื่อพ.ศ. ๑๔๓๖ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือทะเลสาบเมืองเสียมเรียบ เมืองนี้คนไทยเรียก เสียมราฐ การสร้างปราสาทหินขึ้นบนเขาพนมบาเค็งนั้น เป็นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่แผ่อิทธิพลเข้ามายังดินแดนแถบนี้ ซึ่งถูกสมมติขึ้นเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อนั้น นับเป็นศิลปขอมแบบบาเค็ง
เมืองยโศธรปุระ ราชธานีแห่งนี้มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาคือ พระเจ้าหรรษวรมันที่ ๑ หรือ พระเจ้ารุทรโลก พระโอรสของพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๔๔๓-๑๔๕๖ และพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๒ หรือพระเจ้าบรมรุทรโลก พระอนุชาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๑ ครองราชย์ พ.ศ. ๑ ๔๕๖-๑๔๖๘ จึงเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแผ่นดิน
ในที่สุดพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ หรือพระเจ้าบรมศิวบท ซึ่งเป็นน้องเขยของพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อาณาจักรขอมในพ.ศ. ๑๔๗๑-๑๔๘๕ พระองค์ได้สร้างราชธานีขึ้นที่เมืองโฉกการยกยาร์หรือเกาะแกร์ และพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๒หรือพระเจ้าพรหมโลก พระโอรสขององค์ได้ครองราชย์ต่อมาระหว่างพ.ศ. ๑๔๘๕-๑๔๘๗ ยุคนี้ได้สร้างศิลปขอมแบบเกาะแกร์ พ.ศ. ๑๔๖๕-๑๔๙๐ ต่อมาพระเจ้าราเชนทรวรมัน หรือพระเจ้าศิวโลก พระนัดดาของพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ได้ครองราชย์ในพ.ศ. ๑๔๘๗-๑๕๑๑ ได้ย้ายราชธานีมาที่เมืองยโศธรปุระ หรือเมืองพระนครแห่งแรก ยุคนี้ได้สร้างศิลปขอมแบบแปรรูป พ.ศ. ๑๔๙๐-๑๕๑๐
เมืองยโศธรปุระ ราชธานีเก่าแห่งนี้มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาหลายพระองค์ ได้แก่
- พระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ หรือพระบรมวีรโลก ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าราเชนทรวรมัน ครองราชย์พ.ศ. ๑๕๑๑-๑๕๔๔ สมัยนี้สร้างศิลปขอมแบบบันทายศรี พ.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๕๐ ขึ้น
- พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๑ พระนัดดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๕๔๔ สร้างศิลปขอมแบบคลังขึ้นพ.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๖๐
- พระเจ้าชัยวีรวรมัน ครองราชย์พ.ศ. ๑๕๔๕ (สวรรคตพ.ศ. ๑๕๕๓)
- พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ครองราชย์ พ.ศ. ๑๕๔๕-๑๕๙๓สมัยนี้พระองค์ได้ทำการสถาปนาราชวงศ์ขึ้นใหม่ และน่าจะมีการสร้างเมืองพระนครขึ้นใหม่เป็นแห่งที่สองเป็นยุคที่สร้างศิลปแบบปาบวนขึ้นใช้ในพ.ศ. ๑๕๖๐-๑๖๓๐ เมืองพระนครแห่งที่สองนี้ ยังไม่มีรายละเอียด จึงสรุปไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด
ในดินแดนพายัพนั้น เดิมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติลาว ครั้นเมื่อขอมมีอำนาจขยายอาณาจักรมาสู่ดินแดนพายัพ จึงตั้งเมืองละโว้ให้เจ้านครขอมคอยดูแล และพระนางจามเทวีพระธิดาของเจ้าผู้ครองเมืองละโว้ได้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงของขอมละโว้ พระธิดาเจ้าผู้ครองเมืองนี้จึงได้ปกครองพวกลาวทั้งปวงในมณฑลพายัพ เมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) จึงเป็นเมืองลูกหลวงของขอมละโว้ ที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ดูแลดินแดนพายัพ ต่อมาได้ตั้งเมืองนครเขลางค์ (เมืองลำปาง) ขึ้นและปกครองร่วมกัน

จักรวรรดิเขมร
จักรวรรดิขแมร์ หรือ อาณาจักรเขมร หรือบางแหล่งเรียกว่า อาณาจักรขอม เป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณ เริ่มต้นขึ้น ราวพุทธศตวรรษที่ 6 โดยเริ่มจากอาณาจักรฟูนัน มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณประเทศกัมพูชา โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ ประเทศไทย ลาว และบางส่วนของเวียดนามในปัจจุบัน นับเป็นอาณาจักรที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาได้อ่อนกำลังลงจนเสียดินแดนบางส่วนให้กับอาณาจักรสุโขทัยและแตกสลายในที่สุดเมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรขอมสืบทอดอำนาจจากอาณาจักรเจนฬา มีสงครามผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะกับอาณาจักรข้างเคียง เช่น อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรจามปา มรดกที่สำคัญที่สุดของอาณาจักรขอมคือ นครวัด และ นครธม ซึ่งเคยเป็นนครหลวงเมื่อครั้งอาณาจักรแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด และยังมีลัทธิความเชื่อต่างๆ อย่างหลากหลาย ศาสนาหลักของอาณาจักรนี้ได้แก่ ศาสนาฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งได้รับจากศรีลังกา เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13

ยุคมืดของกัมพูชา
ยุคมืดของกัมพูชา เริ่มตั้งแต่อาณาจักรอยุธยาได้โจมตีอาณาจักรเขมร และ ได้เผา พระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ราบเป็นหน้ากอง ทำให้อาณาจักรเขมรเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศตั้งแต่บัดนั้นมา เขมรเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในฐานะดินแดนประเทศราช อาณาจักรอยุธยาปกครองเขมรเป็นเวลาเกือบ 400 ปี ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เขมรตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิสยามอย่างเข้มงวด ในสมัยรัชกาลที่3 ได้เกิด สงครามอานามสยามยุทธทำให้กัมพูชาเป็นรัฐอารักขาระหว่างสยามกับญวณ ก่อนที่จะตกเป็นของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

กัมพูชาในฐานะอาณานิคมของฝรั่งเศส
กัมพูชาตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาอารักขาระหว่างฝรั่งเศส-กัมพูชาเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 ในสมัยพระนโรดม โดยสยามพยามยามคัดค้านแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในช่วงแรก ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในมากนัก และช่วยค้ำจุนราชบัลลังก์ของกัมพูชา โดยช่วยปราบกบฏต่างๆ จน พ.ศ. 2426 - 2427 หลังจากยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด โดยพยายามลิดรอนอำนาจของกษัตริย์และยกเลิกระบบไพร่ทาส ทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรง จนต้องเจรจากับพระนโรดม กษัตริย์ในขณะนั้น ให้ประกาศสันติภาพ และระงับการแทรกแซงกัมพูชา จนกระทั่งพระนโรดมสวรรคต ฝรั่งเศสได้สนับสนุนให้พระสีสุวัตถ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ พร้อมทั้งมอบอำนาจการปกครองทั้งหมดให้ฝรั่งเศส[1] หลังจากฝรั่งเศสเข้าปกครองกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2406 ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจในเวียดนาม โดยปรับปรุงการเก็บภาษี ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวกัมพูชา และยังนำชาวเวียดนามเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในระบบราชการของฝรั่งเศส และเป็นแรงงานทางด้านเกษตรกรรม
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงกลางปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าสู่กัมพูชาแต่ยอมให้รัฐบาลวิชีปกครองดังเดิม รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เรียกร้องดินแดนบางส่วนในลาวและกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสจนนำไปสู่กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นเมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในที่สุด ญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยที่ไทยได้จังหวัดพระตะบอง เสียมราฐและบางส่วนของจังหวัดสตึงแตรง ยกเว้นปราสาทนครวัดยังอยู่ในเขตแดนของฝรั่งเศส พระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์กษัตริย์กัมพูชาสิ้นพระชนม์หลังกรณีพิพาทนี้ไม่นาน ฝรั่งเศสเลือกพระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์ทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ ต่อมา ญี่ปุ่นได้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2488 กัมพูชาได้ประกาศเอกราชภายใต้วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น โดยมีพระนโรดม สีหนุเป็นประมุขรัฐ หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาในพนมเปญ สถาปนาอำนาจของฝรั่งเศสในกัมพูชาอีก
รัฐบาลฝรั่งเศสอิสระได้ตัดสินใจที่จะรวมอินโดจีนเข้ากับสหภาพฝรั่งเศส ในพนมเปญ พระนโรดม สีหนุพยายามเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อเรียกร้องเอกราชที่สมบูรณ์ ในขณะที่กลุ่มต่อต้านที่เรียกตนเองว่าเขมรอิสระ ได้ใช้การสู้รบแบบกองโจรตามแนวชายแดน โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มฝ่ายซ้ายทั้งที่นิยมและไม่นิยมเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มเขมรเสรีซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ของเซิง งอกทัญด้วย ใน พ.ศ. 2489 ฝรั่งเศสยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองในกัมพูชา และให้มีการเลือกตั้งภายในประเทศ พระนโรดม สีหนุยังคงต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กัมพูชาเป็นอิสระจากสหภาพฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง จึงยอมมอบเอกราชให้แก่กัมพูชา

การปกครองยุคแรกของสีหนุ
ดูบทความหลักที่: ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2497–2513)
หลังการประชุมเจนีวาได้มีการเลือกตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชาใน พ.ศ. 2498 โดยมีคณะกรรมการควบคุมนานาชาติเป็นผู้สังเกตการณ์ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศสละราชสมบัติให้พระบิดาของพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต และทรงตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือพรรคสังคมราษฎร์นิยมหรือระบอบสังคม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นฝ่ายขวา ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรง แต่ก็มีสมาชิกฝ่ายซ้ายภายในพรรค เช่น เขียว สัมพัน ฮู ยวน เพื่อถ่วงดุลกับฝ่ายขวา การเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งโดยได้ 83% ของที่นั่งทั้งหมดในสภา
นอกจากนั้น พระนโรดม สีหนุ ยังดำเนินนโยบายที่จะดึงฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวากลุ่มต่างๆให้เข้าร่วมกับระบอบสังคมของพระองค์ และกดดันผู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วมกับพระองค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป องค์กรที่ต่อต้านระบอบของพระนโรดม สีหนุถูกผลักดันให้กลายเป็นองค์กรใต้ดิน พรรคที่เป็นเอกเทศของฝ่ายซ้าย เช่น กรมประชาชนกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี สถานีวิทยุแห่งชาติได้ออกประกาศว่ากรมประชาชนเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม มีการติดโปสเตอร์ต่อต้านกรมประชาชนโดยทั่วไป หนังสือพิมพ์ของฝ่ายต่อต้านพระองค์ เช่น หนังสือพิมพ์ l'Observateur และหนังสือพิมพ์อื่นที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันถูกสั่งปิดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2506 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศชื่อของฝ่ายซ้ายจำนวน 34 คน ว่าเป็นพวกขี้ขลาด หลอกลวง ก่อวินาศกรรม หัวหน้ากบฏ และเป็นคนทรยศ ผลที่ตามมาทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายต้องออกจากเมืองหลวงไปตั้งมั่นในชนบท
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของพระนโรดม สีหนุ เป็นการดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มีแนวโน้มเป็นปฏิปักษ์กับไทยและเวียดนามใต้ ในขณะที่เป็นมิตรกับจีนและสนับสนุนเวียดนามเหนือในสงครามเวียดนาม กัมพูชาในสมัยนี้มีกรณีพิพาทกับไทย ทั้งกรณีพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และการกวาดล้างชาวไทยเกาะกงในจังหวัดเกาะกง การปกครองระบอบสังคมของพระองค์สิ้นสุดลงเมื่อถูกรัฐประหาร โดยลน นล เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรขึ้นแทน พระนโรดม สีหนุต้องลี้ภัยไปจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน


เงินเดือน ค่าแรงขั้นต่ำประเทศกัมพูชา

ประเทศกัมพูชาไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ประเทศกัมพูชาไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ยกเว้นในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน(ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2551 ปรับเป็น 51 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนสำหรับระยะฝึกงานและ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเมื่อผ่านการฝึกงาน) และนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2556 ก็ปรับเพิ่มเป็น 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เป็นไปในแนวทางที่สนับสนุนการครองชีพประจำวัน และต้องเป็นไปเพื่อเหตุผลทางมนุษยธรรม โดยทั่วไปอัตราค่าจ้างในกัมพูชากำหนดในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนี้
อัตราค่าจ้างในกัมพูชา

อัตราค่าจ้างต่อเดือน(US$) ประเภทของแรงงาน
50-60 แรงงานหนัก เช่น กรรมกรแบกหามคนงานก่อสร้าง
100-150 ลูกจ้างทั่วไป เช่น คนขับรถ พนักงานขายของ พนักงานส่งของ
150-300 เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน
800-1,000 เจ้าหน้าที่บริหารระดับต้น


ชุดแต่งกายประเทศกัมพูชา

เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับไทยมาก่อน จึงมีลักษณะศิลปะเหมือนกับไทย เช่น ที่จังหวัด สุโขทัยมีศิลปะสมัยขอมอยู่มาก เช่น การทำตะกร้าหวาย เครื่องจักสาน เครื่องไม้ เครื่องเงิน ทองแดง ทอผ้าพื้น เมือง เรียกผ้าซัมปอต และผ้าปูม คนไทยสมัยนี้ก็ยังนิยมอยู่ 
การแต่งกายของชาวกัมพูชาจะนุ่งผ้าซัมปอต (Sompot) เป็นผ้าทอมือ ถือว่าเป็นการ แต่งกายประจำชาติ สำหรับข้าราชการผู้ใหญ่จะนุ่งผ้าโฮลกับเสื้อมีกระดุมสีทอง ในงานพิธีจะนุ่ง ผ้าโจงกระเบน เวลาไปวัดจะนุ่งผ้าม่วง

ผ้าซัมปอต (Sompot) มีทั้งที่เป็นผ้าฝ้ายและผ้าไหม มีหลายแบบ ถ้าเป็นผ้าที่ใช้ในโอกาส พิเศษจะใช้เส้นใยพื้น เมืองทอ ถ้าใช้ในชีวิตประจำวันจะใช้วัสดุราคาไม่สูง ซึ่งจะส่งมาจากประเทศ ญี่ปุ่น นิยมทำลวดลายตามขวาง ถ้าเป็นชนิดหรูหราจะทอด้ายเงินและด้ายทอง
ผ้าโฮล (Hol) เป็นผ้าที่สวยงามประณีต และเก่าแก่ที่สุด จะเป็นผ้ามัดหมี่ชนิดหนึ่งเป็น แบบที่มัดเส้นพุ่ง ผ้าโฮลที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพและเนื้อผ้าจะทอจาก Koh Sautin, Prek Chang Kran (กัมปะจาน) และ Teuk Chor ผ้าโฮลจะมีลวดลายสำหรับผู้หญิงและชาย เช่น ลายโกฎจะเป็น ลายของผู้ชาย ส่วนลายต้นไม้ ดอกไม้ เป็นของผู้หญิง แต่ในระยะหลังผ้า Hol จะใช้เฉพาะสตรี เท่านั้น

การแต่งกาย 
หญิง นิยมนุ่งผ้าถุงสีดำ เนื้อมัน คาดเข็มขัด ใส่เสื้อสี งานพิธีนุ่งผ้ายก พวกในวังมักนุ่งผ้า โจงกระเบน ไว้ผมตัด ทานหมากจนฟันดำ 
 ผู้ชาย นุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อคอปิด ขัดกระดุมห้าเม็ด


แหล่งท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา


กรุงพนมเปญ
เมืองหลวงของกัมพูชาแห่งนี้อุดมไปด้วยสวนและต้นไม้นานาชนิด นอกเหนือไปจากบ้านเรือนที่หลงเหลือมาจากยุคอาณานิคมที่ดูเหมือนอยู่ท่ามกลาง เมืองเก่าของฝรั่งเศส บรรยากาศแสนสบายของเมืองที่ห้อมล้อมไปด้วยสายน้ำ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองท่าแห่งสุดท้ายอันยิ่งใหญ่” ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมามีโรงแรมเกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ ร้านอาหารก็ได้รับการพัฒนาขึ้นจนได้มาตรฐานด้วยเช่นกัน กระนั้นร้านอาหารพื้นเมืองราคาประหยัดก็ยังมีให้เลือกมากมาย


เสียมเรียบ
นครวัด สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 30 ปี ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปราสาทขอมด้วยกันและยังเป็น เมืองในตัวของมันเองด้วย โดยมีฐานะเป็นทั้งเมืองหลวงและศาสนสถานประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่ง สร้างอุทิศถวายแก่พระวิษณุ ทุกสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นจึงล้วนแต่มีความหมายตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูที่ ว่า ศาสนสถานคือศูนย์กลางของโลกและจักรวาล มีคูเมืองเป็นมหาสมุทร ระเบียงคตเปรียบดังเทือกเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นที่อยู่ของทวยเทพ ส่วนปรางค์ประธานที่อยู่ชั้นบนสุดหมายถึงยอดเขา นักท่องเที่ยวที่เดินทางมานครวัดจะต้องไม่พลาดการชื่นชมความอ่อนช้อยงดงามของนางอัปสรที่มีอยู่ถึง 1,635 องค์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทพที่คอยดูแลศาสนสถานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีภาพสลักที่อยู่รอบระเบียงคตเป็นเรื่องราวจากมหากาพย์และ คัมภีร์พระเวทย์ของศาสนาฮินดู รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้สร้าง และหนึ่งในนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับกองทัพชาวสยามด้วย 


นครวัด กัมพูชา
ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ในประเทศกัมพูชา สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นศาสนสถานประจำนครของพระองค์ เมื่อสมัยแรกนั้น นครวัดได้ถูกสร้างเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย แต่ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนให้เป็นวัดในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในปัจจุบันปราสาทนครวัดนับเป็นสิ่งก่อสร้างสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา และได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร 

นครธม กัมพูชา
หรือเมืองพระนครหลวง เป็นราชธานีแห่งใหม่ที่ย้ายมาจากนครยโศธรปุระตามพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ประสงค์จะขยายอาณาจักรขอมให้ยิ่งใหญ่ขึ้น นครธมมีคูเมืองล้อมรอบกว้างประมาณ 80 เมตร ด้านละ 3 กิโลเมตร และมีกำแพงศิลาแดงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน กำแพงที่ล้อมรอบเปรียบได้กับภูเขาและมหาสมุทรที่โอบล้อมแผ่นดิน โดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าเป็นสะพานสลักหินขนาดใหญ่ มีเทวดาและอสูรฝั่งละ 54 ตนฉุดนาคขนาดใหญ่ ส่วนซุ้มประตูทางเข้ามีภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่บนยอด ภายในประกอบด้วยปราสาทบายน ลานช้าง ลานพระเจ้าขี้เรื้อน และปราสาทอื่น ๆ อีกมากมาย 


ปราสาทบายน กัมพูชา
ประกอบด้วยปรางค์ปราสาท 54 ปรางค์ที่ถูกสลักเป็นภาพพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร รวม 216 หน้า ผินออกไปทั้ง 4 ทิศ เพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของพสกนิกร รอยยิ้มที่เย็นระเรื่อของพระพักตร์เหล่านั้น เรียกกันว่าเป็นยิ้มแบบบายนอันเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา 


ลานช้าง กัมพูชา
ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองพระนครหลวงใกล้กับปราสาทบายน หันหน้าเข้าสู่ลานกว้างที่เรียกกันว่าสนามหลวง เป็นระเบียงยาวประมาณ 350 เมตร สูงจากพื้น 3 เมตร ผนังฐานพลับพลาสร้างด้วยหินสลักเป็นรูปช้างและครุฑพ่าห์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ ที่สำหรับให้องค์พระมหากษัตริย์นั่งทอดพระเนตรการสวนสนาม การซ้อมรบ และการเฉลิมฉลองต่าง ๆ 


ปราสาทพนมบาแคง 
ตั้งอยู่บนเขาลูกเล็กที่มีความสูงประมาณ 70 เมตร เป็นศาสนสถานแห่งแรกของเมืองพระนคร นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นมาบนปราสาทพนมบาเค็งเพราะเป็นจุดชมวิวที่สวยงามแห่ง หนึ่งโดยเฉพาะยอดปราสาทนครวัดที่ผุดขึ้นกลางป่า เวลาที่เหมาะสำหรับเที่ยวชมคือช่วงเย็น เพราะจะได้เห็นยอดปราสาทนครวัดที่ถูกแดดยามบ่ายฉาบให้เป็นสีทอง นอกจากนี้ยังสามารถชมเมืองเสียมราฐ บายรายตะวันออก เขาพนมบกเขาพนมกรอม และแนวเทือกเขาพนมกุเลน 


ปราสาทตาพรหม กัมพูชา
จัดเป็นวัดในทางพุทธศาสนาและเป็นวิหารหลวงในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อ ทรงถวายอุทิศให้กับองค์พระราชบิดา ทำให้ภาพที่สลักของปราสาทแห่งนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคติธรรมในพุทธศาสนา แต่ต่อมาบางส่วนได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นศิวะลึงค์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 เนื่อง จากทรงนับถือศาสนาฮินดู เสน่ห์ของปราสาทตาพรหมอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่อย่างต้นสะปงหรือต้นสำโรง ที่โอบรัดและเกาะเกี่ยวไม่ให้ปราสาทแห่งนี้พังทะลายลง ว่ากันว่าเมื่อค้นพบนครวัดในครั้งแรกก็มีสภาพไม่ต่างไปจากนี้เช่นกัน 


บันทายสรี กัมพูชา
เทวสถานขนาดเล็กอันมีลวดลายสลักเสลาที่งดงาม มีความอ่อนช้อย คมชัด และมีชีวิตชีวา ถือเป็นปราสาทที่มีทับหลังและหน้าบันสมบูรณ์ที่สุด ส่วนใหญ่จะแกะสลักเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ (รามเกียรติ์) หลายคนขนานนามว่านี่คือปราสาทแห่งความรัก อยู่ห่างจากเมืองเสียมราฐประมาณ 35 กิโลเมตร 


พนมกุเลน กัมพูชา
นอกจากจะเป็นแหล่งหินที่นำมาสร้างปราสาทมากมายในเมือง เสียมราฐแล้ว ครั้งหนึ่งเทือกเขาแห่งนี้ยังเคยอยู่ในฐานะเมืองหลวงในสมัยพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 2 สิ่งที่น่าสนใจของพนมกุเลนก็คือศิวะลึงค์พันองค์ใต้น้ำ ซึ่งใช้แทนฤาษีหนึ่งพันตน พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 โปรด ให้สร้างขึ้นเพื่อให้แม่น้ำเสียมราฐกลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันศิวะลึงค์เหล่านั้นยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แม้จะอยู่ใต้สายน้ำมานานนับ พันปี 


พระเจดีย์เงิน กัมพูชา
พื้นของอาคารดังกล่าวปูลาดด้วยแผ่นเงินกว่า 5000 แผ่น แต่ละแผ่นหนักมากกว่า 1 กิโลกรัม รวมน้ำหนัก ถึง 3 ตัน แต่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม "วัดพระแก้ว " 


โคปุระ ซุ้มประตูเมือง คูเมือง กัมพูชา
เป็นสะพานหินสลักขนาดใหญ่ รูปเทวดา 54 องค์ กำลังฉุดนาค อีกฝั่งหนึ่งเป็น อสูร 54 ตนฉุดนาคขนาดใหญ่โตเช่นเดียวกัน 


ปราสาทบาปวน 
ปราสาทบาปวน สร้างในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 นับว่าเป็นปราสาทที่สูงมาก


ปราสาทตาแก้ว 
ปราสาทตาแก้วถูกสร้างเพื่อถวายอุทิศแด่ พระศิวะในศาสนาฮินดูที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ทรงนับถือ ปราสาทตาแก้วเป็นปราสาทแรกในการทดลองทำด้วยหินทรายมาสร้าง มีลักษณะเป็นปราสาท 5 หลัง เป็นปราสาทที่ถูกเรียกว่าปราสาทโกลน หมายความว่า ปราสาทที่สร้างยังไม่เสร็จดี 



พระราชวังหลวง 
สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะเขมรโดยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านโรดมสีหนุ จากการเสด็จกลับคืนสู่กรุงพนมเปญ